จากบทความก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับ หลุมพรางของการขายของบน Shopee Lazada ในปี 2021 แน่นอนว่าผมไม่ทิ้งให้ผู้อ่านทุกคนตกหลุมอยู่กับปัญหาอย่างเดียว ในบทความนี้ ผมมีขั้นตอนและ Mindset สำหรับผู้ประกอบการไทย (ร้านค้าไทย) ในการเตรียมตัวเตรียมใจ เจอศึกหนักหลังจากนี้ครับ
หากต้องการทราบว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตของ eMarketplace จะเป็นอย่างไร สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ PANTIP
สรุปสิ่งที่เกิดขึ้นให้ฟังสั้นๆก็คือว่า ปัจจุบันร้านค้าจีนได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากเจ้าของ Platform ทั้งสองเจ้า รวมไปถึงระบบ Infrastructure ที่เพิ่มความสะดวกในการส่งสินค้าจากจีนสู่ไทยในระยะเวลาที่สั้นลง ต้นทุนก็ถูกลง
ในวันที่ผู้ผลิตสามารถขายสินค้าถึงมือผู้บริโภคได้ในราคาโรงงาน Direct-to-Customer แบบนี้ ตัวกลาง ที่ไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรือคุณค่าอะไรให้กับลูกค้า ก็จะถูกกลืนหายไป ดังนั้น หลังจากนี้จะเป็นแนวคิดการรับมือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อให้เหล่าผู้ประกอบการไทย พ่อค้าแม่ขายบน Shopee Lazada ตระหนักรู้ ระมัดระวัง และเตรียมตัวรับแรงกระแทกของ Big Change ที่กำลังจะเกิดขึ้นครับ
วิธีการเอาตัวรอดจากการแข่งขันของสินค้าจีน
ก่อนผมจะพูดถึงวิธีการ ผมจะขอพูดถึง Mindset ก่อน
สิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่พลาดและหลงผิดไปมากที่สุดนั่นคือ การวิ่งหาแต่วิธีการ
เช่น วิธีเพิ่มยอดขาย Shopee Lazada, วิธีการยิงแอดยังไงให้ขายได้หลักล้าน, 30 วิธีเขียนแคปชั่นอย่างไรให้ตอบแขทไม่ทัน เทคนิคเพิ่มยอดขายหลักล้านด้วยบลาๆ ฯลฯ
สังเกตว่า คอร์สต่างๆที่ขายวิธีการเหล่านี้ จะเป็นคอร์สที่ขายดีมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เพราะคนเสพติดภาพลักษณ์ของการประสบความสำเร็จแบบรวดเร็ว แต่ละคนจึงหาวิธีลัดในการสร้างผลลัพธ์ ซึ่งก็ไม่ผิดนะครับ แต่ถ้าสิ่งๆนั้นมันไม่ได้มาจาก Mindset ที่ถูกต้อง คุณก็จะใช้วิธีหรือเทคนิคนั้นได้แค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น
ยกตัวอย่างง่ายๆครับ ต่อให้คุณไปลงเรียนคอร์สเขียนคอนเท้นต์เพื่อเพิ่มยอดขายมา แต่ลักษณะการตอบแชทของคุณนึกถึงแต่ยอดขาย รายได้ มากกว่าประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับ ต่อให้คุณไปจ้างเอเจนซี่โฆษณาระดับประเทศในการดึงลูกค้าให้สนใจสินค้าของคุณได้ แต่คุณก็จะไม่สามารถปิดการขายได้ครับ อาจจะฟลุกได้มาบ้าง แต่ผมการันตีว่า ROI ของการลงทุนไม่คุ้มแน่นอน
ดังนั้น ก่อนที่จะหาวิธีการ ผมอยากให้เริ่มจาก Mindset ก่อนว่า
เราต้องนึกถึงสิ่งที่ลูกค้าจะได้รับก่อนเสมอ
การคิดแบบนี้ จะทำให้คุณอยู่เหนือการแข่งขันในทุกๆเกมครับ คุณจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัจจัยภายนอกมากกว่าคุณค่าที่ลูกค้าจะได้รับ และวิธีคิดแบบนี้จะทำให้คุณสามารถคิดค้นวิธีการ ไอเดีย การนำเสนอแบบใหม่ๆได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดครับ
อีกหนึ่ง Mindset ที่ผมเห็นนักขายหลายคนพลาดเยอะไม่แพ้กัน ก้คือ การติดกับดักคำว่า “ของมันต้องมี”
ผมว่าคนไทยเสพ Social กันมากไปหน่อย เวลามีอะไร ได้อะไร จะทำอะไรก็ต้องอวด ต้องมีนั้นมีนี่ ส่วนใหญ่ก้เลยมีนี่(หนี้) กันซะเยอะ
เห็นจากในกลุ่มขายของได้เลยครับ จะมีคำถามประมาณว่า ขายของใน shopee lazada ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้างถ้าจะทำเรื่องกู้ซื้อบ้าน
อดทนกันซักนิดครับ เริ่มต้นธุรกิจให้โตและมั่นคงก่อน ถึงวันนั้นต่อให้คุณสร้างภาระหนี้ก็สบายใจกว่า สมมติ ผ่อนรถเดือนละ 10,000 เทียบกับกำไรเดือนละ 3-40,000 กับ ยังไงก็เหนื่อยกว่าผ่อนตอนที่กำไรเดือนละ 100,000 ครับ
อินโทรกันซะนาน มาเริ่มกันเลยครับสำหรับวิธีเอาตัวรอดจากการแข่งขันร้านค้าจีน
0. การยอมรับความเป็นจริง
ก่อนจะเริ่มครับ สิ่งนึงที่ผมแนะนำให้ทุกคน “มองโลกตามความเป็นจริง” ครับ ไม่ได้อยากจะดับฝันใครหรอกนะครับ แต่เป็นสิ่งแรกสุด หลังจากการปรับ Mindset แล้ว ถ้าเรามองถึงลูกค้าแล้วแต่ความเป็นจริงที่ไม่สามารถไปต่อได้แล้ว ยังไงคุณก็ต้องเปลี่ยนธุรกิจครับ หรือเปลี่ยนแนวสินค้าที่ขายดูครับ
ผมยกตัวอย่างสินค้าหมวดนึงที่ผมเคยขาย เป็นสินค้าหมวดท่องเที่ยวครับ ผมเคยขายกระเป๋าเดินทาง และอุปกรณ์ Gadget สำหรับนักเดินทาง หมอนพิงคอ อะไรพวกนี้
จังหวะที่ร้านค้าจีนเข้ามา ผมก็ยังพอขายได้อยู่ครับ แต่เมื่อ COVID19 เข้ามาปั้บ เงียบทันทีครับ ยอดขายลดลง 70กว่า% ภายใน 2 เดือน ซึ่งตามความเป็นจริงก็แน่นอนครับ คนไม่เดินทาง ทุกประเทศปิดประเทศหมด ช่วงแรกผมก็ฝืนด้วยการทำโปรโมชั่นลดราคา แต่ต่อให้ลดราคายังไง เมื่อ Demand มันไม่มี สินค้าอยู่ในตัวเลือกท้ายๆตารางในความคิดของลุกค้า สุดท้ายผมก็ต้องปิดร้านนี้ไปครับ
เวลาไปปรึกษาโค้ชหลายๆคน เค้าก็จะแนะนำวิธีสู้แบบต่างๆตามความถนัดของแต่ละคน แต่ผมอยากให้คุณสังเกตนะครับว่า
ทุกวันนี้ คุณ “สู้” หรือ “ดันทุรัง” อยู่กันแน่
สองคำนี้ต่างกันนิดเดียว สู้คือมีทางไปต่อ พอมองเห็นแสงอยู่ไกลๆ แต่ดันทุรังคือ คุณสู้ในทางที่คุณไม่สามารถไปต่อได้อีกแล้ว
อันนี้สำคัญมากจริงๆนะครับ เพราะลึกๆแล้วจิตใจคนเราจะหวงแหนกับสิ่งที่สร้างมากับมือ แต่ถ้าลองฝึกมองจาก Mindset ว่า ลูกค้าจะได้รับอะไร แล้วถ้าในคำตอบนี้ เราไม่สามารถทำอะไรเพิ่มกับมันได้แล้ว ก็ไม่แปลกเลยครับที่เราควรจะถอยได้แล้ว ถ้าเราสร้างคุณค่าให้ลุกค้ามากกว่านี้ไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนแนวครับ
1. กระจายความเสี่ยง
ในเชิงของการกระจายความเสี่ยงนั้นมีอยู่หลากหลายแบบครับ เช่น กระจายความเสี่ยงด้วยการเลือกสินค้าหมวดหมู่ที่หลากหลายมากขึ้น สมมติวันนึงสินค้า Home&Living มีเจ้าใหญ่เข้ามาขาย (ซึ่งทุกวันนี้ก็มีอยู่แล้วนะครับ) เรายังมีสินค้าหมวดแม่และเด็กคอยประคับประคองรายได้เอาไว้อยู่
หรือแม้กระทั่ง การกระจายความเสี่ยงของช่องทางการขาย ผมเชื่อว่าหลายคนที่อ่านบทความนี้น่าจะเป็นสายพ่อค้าแม่ค้าบน Shopee Lazada ซะส่วนใหญ่ ซึ่งผมแนะนำให้คุณเพิ่มช่องทางการขายให้มากขึ้นครับ จะไป Facebook IG Tiktok รวมถึงทำเว็ปไซต์ตัวเอง กระจายช่องทางให้ได้มากที่สุดครับ
เพราะทุกวันนี้ Cost of Acquisition หรือ ต้นทุนต่อการหาลูกค้า 1 คนนั้นสุงขึ้นเรื่อยๆ ลูกค้าเริ่มหวงข้อมุลส่วนตัวมากขึ้นครับ ดังนั้นเค้าจะเลือกอะไรที่ตรงกับ Value ของชีวิตเค้ามากขึ้น อย่างน้อยๆข้อมุลลูกค้าที่เคยซื้อร้านของเราผ่าน Shopee Lazada ก็สามารถดึงข้อมูลคำสั่งซื้อมาเก็บเอาไว้ได้และสามารถเอาไปต่อยอดได้อีกเยอะครับ
โดยถ้าจะเริ่มต้นคือ ให้ทุกคนศึกษากลุ่มลูกค้าของเราได้ดีๆครับ ดูว่าพฤติกรรมเขาเป็นแบบไหน หรือหลักๆคือใช้งาน platform ไหนมากสุด เช่น ถ้ากลุ่มลูกค้าเราเป็นวัยรุ่น ช่องทางที่ควรเปิดก่อนเลยก้คือ IG Tiktok ครับ แล้วค่อยปรับวิธีการนำเสนอให้เหมาะกับแต่ละช่องทาง ทุกวันนี้จะเปิดบัญชีบน platform ไหนก็ง่ายหมดแล้วครับ แต่สำคัญคือต้องไปอยู่ถูกที่ ในที่ๆลูกค้าของเราอยู่
2. หาพื้นที่ของตัวเอง
ความหมายจริงๆของคำว่า พื้นที่ของตัวเอง หมายถึง ความถนัดเฉพาะด้านของเราคืออะไร เราเชี่ยวชาญเรื่องใดเป็นพิเศษกว่าคนอื่นๆไหม เราอินกับอะไร เราอยู่กับอะไรได้นานๆและไม่เบื่อ และเราสามารถใช้ทักษะ ความถนัดเฉพาะทางของเราในการสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าได้อย่างไร
อาจจะดูฟุ้งๆ ผมขอยกตัวอย่างแบบนี้ครับ
ในกลุ่มลูกค้าที่ขับมอเตอร์ไซค์ ก็จะมีกลุ่มย่อยๆอยู่ เช่น คนขับมอไซค์ธรรมดา คนขับบิ๊กไบค์ คนขับสายคลาสสิก ซึ่งในแต่ละกลุ่มเราก็สามารถแยกย่อยได้อีกครับ
เช่น กลุ่มที่ขับบิ๊กไบค์ ก็สามารถแยกออกมาเป็น กลุ่มบิ๊กไบค์คลาสเล็ก กลุ่มบิ๊กไบค์คลาสใหญ่ กลุ่มบิ๊กไบค์สายทัวร์ริ่งออกทริป หรือแม้กระทั่งกลุ่มบิ๊กไบค์หัวใจแว๊น
สังเกตไหมครับภายในกลุ่ม ก็จะมีคอมมูนิตี้ลึกลงไปอีก ถ้าเอาให้ชัดๆอีกนิดก็คือ กลุ่มบิ๊กไบค์ จะมีกลุ่ม Facebook เป็นของตัวเองครับ โดยใครที่ขับรุ่นเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกัน ก็จะเข้ามาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน
ที่ผมยกตัวอย่างมายาวๆนี้ เพื่อให้ทุกคนได้เห็นว่า ต่อไปนี้ ถ้าคุณจะขายสินค้าเกี่ยวกับบิ๊กไบค์ คุณจะต้องทำการบ้านลึกลงไปอีกครับ ว่ากลุ่มลูกค้าคุณคือกลุ่มประชากรที่ขับบิ๊คไบค์แบบไหน ดาราศิลปินบางคนก็ชอบขับบิ๊กไบค์ ซึ่งในขณะเดียวกันที่ภาพลักษณ์ของคนขับบิ๊กไบค์คือบิ๊กไบค์หัวใจแว๊น(ออกข่าวบ่อยๆ) ซึ่งถามว่า ดาราเหล่านั้นเป็นแว๊นไหม ก็ไม่ใช่
ยุคนี้ Layer ของลูกค้ามีความซับซ้อนมากขึ้นครับ ผมถึงจั่วหัวไว้แต่แรกเลยว่า เราอินอะไร เพราะถ้าเราไม่อินกับสิ่งที่ทำหรือสิ่งที่เป็นอยู่ คุณจะไม่มีทางนึกออกเลยครับว่าลูกค้าของคุณถูกแบ่งยิบย่อยออกยังไงบ้าง และเชื่อไหมครับ การที่คุณอินกับสิ่งๆนึง มันจะทำให้คุณนึกถึงลูกค้าโดยอัตโนมัติ คุณจะคิดว่าถ้าคุณเป็นลูกค้า คุณอยากได้สินค้าหรือบริการแบบไหน ไอเจ้าความอินเนอร์ตรงนี้แหละครับ จะทำให้คุณแซงคู่แข่งได้อย่างขาดลอย
ถ้าคุณมองการแข่งขันโดยดูที่คู่แข่ง คุณจะรู้สึกว่าการที่จะแซงคู่แข่งนั้นทำไมมันยากจัง แต่ถ้าคุณมองถึงคุณค่าที่ลูกค้าควรจะได้รับ เทียบกับศักยภาพของตัวคุณที่อยากจะทำให้มันดีที่สุดกับลูกค้า คุณจะกลายเป็นผู้นำในด้านนั้นๆได้โดยที่คุณแทบไม่ต้อแคร์เลยว่าคู่แข่งคุณจะทำอะไรอยู่
3. Customer Lifetime Value
ถ้าพูดกันภาษาง่ายๆคือ ลูกค้าคนนึง สามารถสร้างรายได้ให้กับธุรกิจได้แค่ไหน
ผมยกตัวอย่างก็แล้วกันนะครับจะได้เข้าใจง่ายๆ
สมมติผมขายของอุปกรณ์ทำขนม เค้ก ของหวาน สินค้าที่ขายก็จะเป็นพวก เตาอบ ถาดรอง กระดาษห่อเค้ก ไม้ตีแป้ง ฯลฯโดยสินค้าเหล่านี้สามารถแบ่งได้สองแบบครับ คือ สินค้าซื้อครั้งเดียว กับ สินค้าซื้อซ้ำ
ในการขาสินค้าที่สามารถซื้อซ้ำได้ ทำให้ CLV สูงขึ้น เพราะลูกค้ามีโอกาสกลับมาซื้อสินค้าซ้ำได้ บวกกับร้านค้าต้องมีการจัดระบบ CRM ที่ดีพอที่จะดึงลุกค้าไว้ได้
ส่วนอีกขานึงก็คือสินค้าซื้อครั้งเดียว ซึ่งสินค้าประเภทนี้ CLV ต่ำ หรือพูดง่ายๆคือ ใช้เวลานานกว่าลูกค้าจะกลับมาซื้อใหม่
ถ้าคุณแยกแบบนี้ได้แล้ว พึงระลึกไว้เสมอครับว่า ธุรกิจโตนาน ไม่ใช่ โตเร็ว ดังนั้นถ้าคุณรู้ว่าร้านค้าของคุณมีสินค้าแบบ one-time purchase ทำให้มูลค่าต่อลูกค้าน้อยลง วิธีการคือ คุณจะต้องหาสินค้า หรือผลิตสินค้า หรือสร้างบริการอะไรขึ้นมา เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าเก่าของคุณครับ
เช่น ถ้าคุณขายของแต่งรถกระบะซิ่ง มูลค่าต่อคำสั่งซื้อมันสูงก็จริง แต่ถ้าลูกค้าคุณแต่งเต็มมาแล้ว เค้าจะมาเอาอะไรกับคุณต่อ วิธีคือการสร้างสินค้าขึ้นมาตัวนึง ผมสสมติเป็นสเปร์ขัดเงา แล้วก้สร้างจุดขายให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น “ลูกค้าแต่งกระบะล้อทองแบบนี้ ของต้องมีของต้องโชว์ ผมมีสเปรย์เคลือบเงา ฉีดแล้วเช็ด สะอาดมันเงา คราบเกาะน้อย”
อย่างที่ผมบอกครับว่า ต้นทุนการหาลูกค้าใหม่นั้นสูงขึ้นและยากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นวิธีการที่เราควรทำคือการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ (รวมไปถึงสินค้าและบริการใหม่ๆ) เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าเก่าของเรา
เริ่มเห็นภาพไหมครับว่าทำไมเราควรเก็บข้อมูลฐานลูกค้าเก่าเอาไว้
4. สร้างพื้นที่ของตัวเอง
พูดง่ายๆก็คือการทำเว็ปไซต์ หรือมีช่องทางออนไลน์เป็นของตัวเองจริงๆ ( Facebook IG Shopee Lazada ไม่ใช่ของเรานะครับ เราเช่าพื้นที่เขาอยู่โดยแลกกับเงินโฆษณาหรือค่า GP) การมีเว็ปไซต์จะทำให้เราเป็นอิสระจากหลายๆอย่างครับ เช่น การออกแบบเว็ปไซต์ การตั้งราคาโปรโมชั่น ฯลฯ ซึ่งถ้าเทียบกับ marketplace แล้ว การทำเว็ปไซต์ของตัวเองจะยุ่งยากมากกว่าครับ แต่อย่าลืมว่า การใช้ platform อื่นๆนอกจากมีข้อจำกัดแล้ว ถ้าวันนึงอยุ่ๆมีการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นมา เรารับเต็มๆครับ ซึ่งส่วนตัวผมมองว่าเสี่ยงเกินไป
แน่นอนครับว่าทั้ง shopee lazada ตอนนี้ต่างก็ออกกฎคะแนนพฤติกรรมร้านค้าออกมา ในด้านนึงเพื่อเพิ่มมาตรฐานร้านค้าให้ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ เราก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าในอนาคตเค้าจะออกกฏอะไรขึ้นมาอีก ที่หลายคนกลัวคือ อาจเริ่มมีการเก็บค่าคอมมิชชั่นก็เป็นได้ ซึ่งส่วนตัวผมมองว่ามาแน่นอนครับ
การมีพื้นที่เป็นของตัวเอง นอกจากจะสามารถลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากเจ้าของ platform แล้ว ยังสามารถสร้างเอกลักษณ์ของร้านค้าและธุรกิจได้อีกด้วย ซึ่งส่วนนี้จะเป็นผลลัพธ์จากการสร้างแบรนด์ดิ้งในข้อถัดไป
5. Branding
อันนี้เป็นสิ่งที่เข้าใจยากพอสมควรครับ คำว่าแบรนด์ดิ้ง หลายคนก็ยังมองภาพไม่ออกว่า นอกจากโลโก้แล้ว แบรนด์ดิ้งคืออะไร
ในมุมของผมนะครับ แบรนด์ดิ้ง ผมเปรียบเทียบเป็นบุคลิกเหมือนคนๆนึงก้แล้วกัน นาย ก.
การที่คุณจะรู้ว่านาย ก. เป็นคนอย่างไร คุณต้องทำอะไรบ้างครับ?
คุณต้องเคยพุดคุยกันบ้าง ทำความรู้จักเบื้องต้น คุยกันเริ่มถูกคอ ชวนไปกินข้าว ชวนไปปาร์ตี้ คุณถึงจะรู้ได้ว่านาย ก. เป็นคนแบบไหนถูกไหมครับ
ในจุดนี้ผมอยากจะขี้ประเด็นนึงว่า การที่คนเราจะสนิดกับอีกคนนึงได้ มันจะต้องมี จุดร่วม อะไรบางอย่าง ลองนึกตัวเองกับคนสนิดในชีวิตซักคนก็ได้ครับ มันจะเริ่มจากการมีจุดร่วมที่เหมือนกัน เช่น ชอบอะไรเหมือนกัน มีพฤติกรรมบางอย่างเหมือนกัน เป็นต้น
การทำแบรนด์ดิ้ง เป็นลักษณะเดียวกันกับการสร้างมนุษยสัมพันธ์เลยครับ
การที่คนจะรู้ว่านาย ก. เป็นคนอย่างไร ไม่ใช่สิ่งที่นาย ก. ตะโกนบอกคนอื่นว่าฉันเป็นยังไง แต่คนอื่นๆจะมองเห็นและรับรู้ว่านาย ก. เป็นคนแบบไหนจาก สิ่งที่นาย ก. ทำและแสดงออก
ย้อนกลับมาที่เรื่องการสร้างแบรนด์ดิ้ง มันไม่ใช่เรื่องของการสื่อสารออกไปว่า บริษัทของฉัน ร้านของกรูเป็นยังไง แต่มันคือการกระทำอะไรบางอย่าง อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสะท้อนให้คนภายนอกได้รับรู้และรู้สึกว่า บริษัทของฉันเป็นยังไง ซึ่งในเชิงแบรนด์ดิ้งมันจะมีความละเอียดและซับซ้อนมากขึ้น เช่น Brand Belief , Brand Persona และอะไรอีกมากมาย แต่สำหรับพ่อค้าแม่ขาย ผมอยากให้เข้าใจคอนเซปแบรนด์ประมาณนี้ครับว่า แบรนด์ดิ้ง ดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับภาพลักษณ์และสิ่งที่ถ่ายทอดออกไป ไม่ใช่การตะโกนบอกว่าฉันเป็นอะไร
6. Partnership
โลกนี้มันเปลี่ยนไวครับ สมัยก่อนเราจะมีคำว่า ปลาใหญ่ว่ายช้า ใช่ไหมครับ แต่ทุกวันนี้ ปลาใหญ่ว่ายเร็วขึ้นมาก และพร้อมที่จะกินปลาเล็กตัวที่ซื่อๆมึนๆอยู่
เราจะเห็นได้บ่อยมากขึ้นครับในช่วง 1-2 ปีหลัง ที่เห็นแบรนด์ A x แบรนด์ B เช่น ขายกระเป๋า Hermes ลายการ์ตูนดาบพิฆาตอสูร (สมมตินะครับไม่รู้ว่ามีจริงไหม) โดยการ Cross branding ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นการสร้างคุณค่ารูปแบบใหม่ให้กับลุกค้าครับ การ partner ที่เกิดขึ้นคือ แบรนด์หรือร้านค้าทั้งสอง ต่างก็มีจุดเด่น จุดแข็ง ที่ต่างกัน แต่เมื่อร่วมงานกันแล้ว สามารถสร้างคุณค่าใหม่ๆได้
สำหรับ SME อันนี้จะต้องผ่านด่านเรื่อง branding ให้ได้ก่อนนะครับ เพราะการ partnership ที่เกิดขึ้น ต่างคนต้องมีจุดเด่นที่ต่างกัน แต่ระดับสเกลธุรกิจไม่ควรจะห่างกันมาก หรือฝ่ายใดฝ่ายนึงไม่มีแบรนด์ดิ้งที่ชัดเจน ก็คงเป็นไปได้ยาก จริงไหมครับ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การ Partnership จะช่วยให้ธุรกิจของคุณสามารถขยายตลาด การรับรู้ และกลุ่มลุกค้าได้กว้างขวางมากขึ้นครับ และมันเป็นการบีบอัดให้คุณเค้นศักยภาพที่คุณและทีมงานมี ออกมาใช้อย่างเต็มที่ แล้วคุณจะเห็นโอกาสเพิ่มขึ้นครับ
หรืออีกมุมหนึ่งของการ Partnership คือ การเป็นเหาปลาใหญ่ครับ
ฟังแล้วอาจจะดูต่ำต้อย แต่อย่าไปซีเรียสครับ ความหมายที่ผมจะบอกคือ ในขนะที่ปลาใหญ่ว่างเร็วขึ้นและฉลาดขึ้น ถ้าเราอยู่ใกล้ตัวปลาใหญ่ ผมว่าเราจะถูกกินยากครับ
สิ่งที่ผมจะบอกคือ มองลู่ทางที่จะ Partnership กับบริษัทใหญ่ไว้บ้างครับ
การร่วมงานกับบริษัทใหญ่ๆจำเป็นจะต้องใช้ทักษะที่เป็นของจริงเท่านั้น และสร้างคุณค่าได้จริงๆ เขาถึงจะให้โอกาสดีๆเข้ามา
อย่างตัวผมเอง จากการที่ผมเขียนบทความอยุ่เรื่อยๆ และทุกอย่างที่เขียนคือผมเล่าจากประสบการณ์จริง ผมก็ได้รับโอกาสจากปลาใหญ่ในการ Partnership เช่นกันครับ
แต่ Mindset ที่สำคัญอีกอันนึงของการ Partnership จะคล้ายกันกับลูกค้าครับ คือ ทำยังไงให้ลูกค้าและพาร์ทเนอร์ของเราได้รับคุณค่าที่ดีที่สุด และด้วยความคิดแบบนี้จะทำให้คุณเติบโตอย่างสง่างามแน่นอนครับ
สำหรับพ่อค้าแม่ขาย สาย Shopee Lazada อาจจะมีความสงสัยต่อว่า แล้วสรุปฉันยังควรจะขายบน marketplace ต่อไปไหม หรือมีวิธีไหนที่จะสามารถเอาชนะร้านค้าจีนได้บ้าง
สามารถติดตามบทความอื่นๆได้ที่ Facebook Group ครับ
https://www.facebook.com/groups/2918107295134980