ETDA แถลงตัวเลขคาดการณ์ผลสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซในไทยปี 2560 โดยมีการแบ่งมูลค่าตามลักษณะทางธุรกิจ ได้แก่ B2B, B2C และ B2G และแบ่งมูลค่าอีคอมเมิร์ซตามประเภทอุตสาหกรรม 8 กลุ่ม โดยกลุ่ม B2B ยังครองมูลค่าสูงเช่นเดิม ถึง 1.6 ล้านล้านบาท มั่นใจอีคอมเมิร์ซไทยโตต่อเนื่อง จับมือสถาบันการศึกษา ตั้ง e-Commerce Park ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเป็นแห่งแรก
สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ในปี 2560 ไทยมีมูลค่าอีคอมเมิร์ซทั้งสิ้น 2,812,592.03 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมูลค่าประเภท B2B ประมาณ 1,675,182.23 ล้านบาท หรือคิดเป็น 59.56% รองลงมา เป็นมูลค่าประเภท B2C จำนวนมากกว่า 812,612.68 ล้านบาท หรือ 28.89% และส่วนที่เหลือราว 324,797.12 ล้านบาท หรือ 11.55% เป็นมูลค่าตามธุรกิจประเภท B2G ซึ่งเมื่อเทียบมูลค่าอีคอมเมิร์ซของปี 2560 กับปี 2559 จะพบว่ามูลค่าของประเภท B2B มีการเติบโตขึ้น 8.63% เช่นเดียวกับประเภท B2C ที่โตขึ้น 15.54%
ขณะที่ในส่วนของการแบ่งมูลค่าอีคอมเมิร์ซตามประเภทอุตสาหกรรมทั้ง 8 กลุ่ม พบว่าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงที่สุด ได้แก่ อันดับที่ 1 อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง มีมูลค่า 869,618.40 ล้านบาท (30.92%) อันดับที่ 2 อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก มีมูลค่า 658,131.15 ล้านบาท (23.40%) อันดับที่ 3 อุตสาหกรรมการผลิต มีมูลค่า 417,207.07 ล้านบาท (14.83%) อันดับที่ 4 อุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร มีมูลค่า 404,208.00 ล้านบาท (14.37%) อันดับที่ 5 อุตสาหกรรมการขนส่ง มีมูลค่า 104,904.28 ล้านบาท (3.73%) อันดับที่ 6 อุตสาหกรรมศิลปะความบันเทิงและนันทนาการ มีมูลค่า 19,716.04 ล้านบาท (0.70%) อันดับที่ 7 อุตสาหกรรมบริการอื่น ๆ มีมูลค่า 11,280.33 ล้านบาท (0.43%) และอันดับที่ 8 อุตสาหกรรมการประกันภัย มีมูลค่า 2,729.65 ล้านบาท (0.10%)
จากผลสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซในไทยที่พบว่ามูลค่าสูงขึ้นทุกปี ETDA จึงเตรียมจัดตั้ง e-Commerce Park เพื่อพัฒนาบุคลากรที่จะเป็นแรงงานในตลาดอีคอมเมิร์ซต่อไปในอนาคต ภายใต้การสนับสนุนจากภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคธุรกิจ สำหรับการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซในระดับประเทศอย่างครบวงจร นอกจากนี้ยังมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดตั้ง e-Commerce Park ระหว่าง ETDA กับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่จะร่วมมือกันส่งเสริมและสนับสนุนด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งดำเนินกิจกรรมในรูปแบบ e-Commerce Park อันจะเป็นเครื่องมือสนับสนุนและอำนวยความสะดวกต่อผู้ประกอบการ SMEs ผู้ผลิตสินค้า ผู้ให้บริการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศสำหรับอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ ตลอดจนธุรกิจ SMEs ทั้งยังเป็นการสร้างแรงจูงใจในการรวมตัวกันของผู้ประกอบการในการติดต่อค้าขายระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นการสร้างระบบนิเวศที่ดี อันจะช่วยยกระดับการแข่งขันให้มีมาตรฐานและทัดเทียมระดับสากล ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงตกลงร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกันในครั้งนี้
สำหรับแนวคิดในการสร้าง e-Commerce Park ของไทยขึ้นเป็นแห่งแรกนี้ นอกจากจะมีเป้าหมายเพื่อเป็นศูนย์รวมการเรียนรู้ ฝึกอบรม จัดทำโครงการต่าง ๆ และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไทย ให้สามารถส่งออกไปยังตลาดโลกได้แล้ว ETDA ยังได้ให้ความสำคัญในเรื่องของตลาดแรงงานด้วย โดยได้เตรียมทำความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำในประเทศหลายแห่ง ให้จัดส่งนักศึกษาที่จบใหม่ หรือนักศึกษาที่ต้องการทำงานระหว่างเรียน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ e-Commerce Park โดยทำหน้าที่ให้บริการฝึกอบรมและคำแนะนำ ให้กับผู้ผลิตหรือประชาชนทั่วไป ได้มีความรู้และความเข้าใจในการขายสินค้าออนไลน์อย่างถูกต้องและมั่นคงปลอดภัย
นอกจากนี้ ETDA ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) กับ Dongguan China Council for the Promotion of International Trade (Dongguan CCPIT) ประเทศจีน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานตามนโยบายของ Dongguan Municipal Government หน่วยงานรัฐที่สนับสนุน ส่งเสริมความร่วมมือ และการค้าระหว่างประเทศของภาคธุรกิจในเมือง Dongguan (ตงกวน) เมืองอีคอมเมิร์ซอันดับ 1 ของจีน และเป็นแหล่งผลิตเทคโนโลยีชั้นนำของโลก เช่น การสนับสนุนด้านเงินทุน การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศเพื่อการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม อันนำไปสู่การพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเป้าหมายในการสร้างความร่วมมือในครั้งนี้มีด้วยกัน 5 ด้าน คือ
1. การแลกเปลี่ยน พัฒนา รวบรวมความรู้ ข้อมูลทักษะการปฏิบัติงาน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์
2. การแลกเปลี่ยนบุคลากร การปรึกษาหารือกระบวนการทำงานร่วมกัน และ/หรือโครงการที่จัดทำขึ้น
3. การจัดกิจกรรมร่วมกัน ทั้งการบรรยาย การจัดอบรมสัมมนา และ/หรือโครงการวิจัย ในเรื่องที่เป็นประโยชน์ร่วมกันตามความเหมาะสม
4. การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมปัจจุบันและวางแผนกิจกรรมที่ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง และ
5. การส่งเสริมกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์ร่วมกัน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการขยายความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ในประเทศจีน และทั่วโลก
จากต้นแบบความสำเร็จของ e-Commerce Park ที่ประเทศจีนนั้น พบว่า “หัวใจ” หรือ Key Success Factor ของการพัฒนาอีคอมเมิร์ซในประเทศจีน คือ การสร้าง e-Commerce Park ที่มีกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ โดยมีลักษณะคล้ายนิคมอุตสาหกรรม หรือเมืองที่มีพื้นที่สำหรับการดำเนินงานร่วมกันของบริษัทต่าง ๆ เพื่อเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี และสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ, ศูนย์ฝึกอบรม, ส่วนให้คำปรึกษา, ส่วนพื้นที่คลังสินค้า และพื้นที่สำหรับการทำ Workshop ด้วย